บ้านคือวิมานของเรา
เคล็ด(ไม่)ลับวิธีเลือกซื้อบ้าน
ประหยัดพลังงานบ้านพักอาศัยส่วนใหญ่จะเน้นการออกแบบให้เป็นบ้านมีความเย็นและอยู่สบายโดยวิถีทางธรรมชาติ(Passive Coolion) เป็นหลัก ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับเรื่องการออกแบบและการเตรียมการสำหรับทำให้เกิดความเย็นด้วนวิธีกลไกและพึ่งพาเทคโนโลยี (Active Cooling) อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันเพื่อเป็นส่วนประกอบที่ผสมผสานกัน โดยก่อให้เกิดทางเลือกในการประหยัดพลังงานด้วย
วิธีการที่มุ่งเน้นคือ การออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร โดยมีวิธีที่จะช่วยให้คุณเลือกซื้อบ้านหรือจะสร้างบ้านให้ถูกใจ มีดังนี้
วิธีแรก อย่าใส่แหล่งความร้อน(ลานคอนกรีต)ในบ้าน คือ ไม่ควรออกแบบลานพื้นคอนกรีตจอดรถยนต์ในทิศทางรับแสงแดด เช่น ทิศใต้ ทิศตะวันตก เนื่องจากวัสดุดังกล่าวจะกลายเป็น มวลสารสะสมความร้อน คือ การสะสมความร้อนไว้ในเวลากลางวันในปริมาณมาก เนื่องจากคุณสมบัติของวัสดุ จะถ่ายเทความร้อนกลับสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืน ทำให้สภาพแวดล้อมของบ้านและตัวบ้านมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย ซึ่งอาจใช้วัสดุอื่นทดแทนคอนกรีต
วิธีที่สอง รั้วบ้าน...ต้องโล่ง.... โปร่ง.... สบาย การทำรั้วบ้านของแต่จะหลังหรือแต่ละโครงการจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นผู้ซื้อต้องสังเกตและใส่ใจว่าบ้านที่ซื้อนั้นรั้วบ้านเป็นอย่างไร ซึ่งรั้วบ้านก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันที่จะช่วยให้บ้านเย็น โดยรั้วบ้านต้องไม่ทึบตัน ควรออกแบบรั้วให้มีลักษณะโปร่งลม เนื่องจากผนังรั้วทึบจะกีดขวางการเคลื่อนที่ของลมเข้าสู่ตัวบ้านทำให้พื้นที่ภายในบ้านอับลม นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ทำรั้ว เช่น อิฐมอญ คอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตบล็อก ยังมีคุณสมบัติสะสมความร้อนไว้ในตัวเองเวลากลางวันและจะถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านในเวลากลางคืนเป็นต้น
วิธีที่สาม อย่าลืม!!! ต้นไม้ให้ร่มเงา การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะช่วยสร้างความร่มรื่นและความสดชื่นสบายตาสบายใจแก่ผู้อาศัยในบ้านแล้ว ใบไม้รูปทรงหลากสีสันที่แผ่กิ่งก้านสาขาในพื้นที่บริเวณบ้านยังสามารถลดแสงแดดที่ตกกระทบมายังตัวบ้าน และให้ร่มเงาที่ร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้นไม้ ใบหญ้า ทั้งหลายที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความร้อนที่อยู่ในสภาพแวดล้อม แต่มีข้อระวังคือ การปลูกต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านเกินไปต้องระวังรากของต้นไม้ใหญ่จะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของบ้านดังนั้นควรดูความเหมาะสมของชนิดต้นไม้ด้วย
วิธีที่สี่ ก่อนสร้าง อย่าลืม!! พื้นชั้นล่างปูแผ่นพลาสติก บ้านพักอาศัยทั่วไปในปัจจุบันนี้ทั้งชั้นล่างและชั้นบนมักติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นและลดความชื้นภายในพื้นที่กันเป็นจำนวนมาก การเตรียมการก่อสร้างในส่วนโครงสร้างพื้นชั้นล่างควรปูแผ่นพลาสติกเพื่อป้องกันความชื้นที่สามารถระเหยขึ้นมาจากผิวดิน เป็นผลให้ให้มีการสะสมความชื้นภายในพื้นที่ห้องชั้นล่างของตัวบ้านและเป็นที่มาของภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้นในที่สุด
วิธีที่ห้า ควรหันบ้านให้ถูกทิศ (ลม-แดด-ฝน) จิตแจ่มใส ซึ่งการออกแบบ้านเรือนในประเทศไทย ไม่ควรหลงลืมปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน เพราะประเทศไทยจะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ทางทิศใต้(อ้อมใต้)เป็นเวลา 8-9 เดือน และมีมุมแดดต่ำทำให้ความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารได้ง่ายขึ้น กันแสงแดดได้ยาก จึงทำให้ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเกือบตลอดทั้งปี การวางตำแหน่งบ้านและการออกแบบรูปทรงบ้านที่ดีต้องหลีกเลี่ยงการรับแสงแดดในทิศทางดังกล่าว นอกจากนี้การวางผังบ้านและช่องหน้าต่างจึงต้องคำนึกถึงทิศทางกระแสลมด้วย แต่หากพื้นที่ทางเข้าออกของบ้านกับถนนจำเป็นต้องสร้างบ้านที่รับแดดในทิศทางดังกล่าวก็มีทางแก้โดยการติดตั้งกันสาดหรือต้นไม้ที่เหมาะสมก็ได้
วิธีที่หก การมีครัวไทยต้องไม่เชื่อมติดกับตัวบ้าน เพราะการทำครัวไทย นอกจากจะได้อาหารที่มีรสเผ็ดร้อนถูกปากคนไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในปริมาณที่มากอีกด้วย อันเนื่องมาจากอุปกรณ์และกิจกรรมการทำครัวต่างๆซึ่งแตกต่างจากครัวฝรั่งโดยสิ้นเชิง ความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องครัวที่ติดกับตัวบ้านจะสามารถถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็วในลักษณะ สะพานความร้อน และกรณีห้องที่ติดกันเป็นพื้นที่ปรับอากาศจะยังสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นของห้องดังกล่าวมากขึ้นโดยไม่จำเป็น ดังนั้น การออกแบบบ้านควรให้ครัวไทยแยกห่างจากตัวบ้าน
วิธีที่เจ็ด ประตูหน้าต่างต้องมีทางลมเข้าออก การระบายความร้อนภายในบ้านโดยใช้ลมธรรมชาติ ต้องมีช่องทางลมเข้าออก มิฉะนั้น ลมจะไม่สามารถไหลผ่านในตัวบ้านได้ การวางตำแหน่งช่องหน้าต่างนั้นต้องตอบรับทิศทางการเคลื่อนที่ของลมประจำด้วย แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าลมที่นำเข้าสู่อาคารต้องทำให้ลมเย็นเสียก่อน ในการออกแบบให้ลมไหลผ่านตัวบ้านได้ดีนั้น มีข้อระวัง ได้แก่ ต้องติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกรองฝุ่นละอองเกสรที่จะเข้าบ้านและการติดช่องหน้าต่างในตำแหน่งเยื้องกันจะช่วยบังคับให้ลมไหลผ่านห้องต่างๆตามตำแหน่งที่ต้องการได้
วิธีที่แปด ผังเฟอร์นิเจอร์ต้องเตรียมไว้ก่อนไม่ร้อนและประหยัดพลังงาน บ้านจัดสรรที่ดีควรมีการจัดวางผังเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละห้อง แต่ละพื้นที่ในบ้านเพื่อความสะดวกในการจัดเตรียมตำแหน่งติดตั้งเต้ารับหรือสวิตช์ไว้ล่วงหน้า และเพียงพอสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้าน นอกจากนี้ การวางตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ล่วงหน้าจะได้บอกว่า ภายในห้องของบ้านมีจุดใดที่มีการกีดขวางการเคลื่อนที่ของกระแสลมหรือไม่และควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งควรแยกอุปกรณ์ที่จะสร้างความร้อนนอกห้องปรับอากาศ เช่น ตู้เย็น เครื่องต้มน้ำ
วิธีที่เก้า อย่า!!! มีบ่อน้ำหรือน้ำพุในห้องปรับอากาศ คุณสมบัติทางอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ คือการลดอุณหภูมิและความชื้น ทำให้พื้นที่ห้องต่างๆอยู่ในภาวะที่สบาย ซึ่งการตกแต่งประดับพื้นที่ภายในห้องด้วยน้ำพุ น้ำตก อ่างเลี้ยงปลา หรือแจกันดอกไม้และทำให้เครื่องปรับอากาศต้องใช้พลังงานในการลดความชื้นมากกว่าปกติ
วิธีที่สิบ ช่องระบายอากาศที่หลังคาพาคลายร้อน..... หลังคาที่ดีนั้นนอกจากจะสามารถคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ยังต้องมีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกด้วย ภายในช่องว่างใต้หลังคาเป็นพื้นที่กักเก็บความร้อนที่แผ่รังสีมาจากแสงแดด ก่อนจะถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ในส่วนต่างๆภายในบ้าน ดังนั้น การออกแบบให้มีการระบายอากาศภายในหลังคาออกไปสู่ภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องลมบริเวณจั่วหลังคาหรือระแนงชายคา จึงเป็นเรื่องที่ดีต่อการลดความร้อน แต่มีข้อระวังคือ ต้องมีการติดตั้งตาข่ายป้องกันนก แมลง เข้าไปทำรังใต้หลังคาด้วยและต้องมีการป้องกันฝนเข้าช่องเปิดระบายอากาศด้วย
วิธีที่สิบเอ็ด ต้องใส่ “ฉนวน” ที่หลังคาเสมอ ฉนวนกันความร้อน เป็นอุปกรณ์ที่สามารถกั้นหรือป้องกันความร้อนที่เกิดขึ้นจากแสงแดดไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผนังหรือหลังคาบ้าน แต่ช่องทางที่ความร้อนจากแสงแดดถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้มากสุดในเวลากลางวัน คือ พื้นที่หลังคา ดังนั้น การลดความร้อนจากพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการใช้ฉนวนซึ่งมีรูปแบบและการติดตั้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับการใช้งาน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลดการใช้พลังงานภายในบ้าน
วิธีที่สิบสอง กันแดดดีต้องมีชายคา กัดสาดหรือชายคาบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับอาคารบ้านเรือนในเขตร้อน เช่น ประเทศไทย เนื่องจากมีคุณสมบัติการป้องกันแสงแดด(ความร้อน)ไม่ให้ตกกระทบผนังทึบและส่องผ่านสู่เข้าหน้าต่าง นอกจากนี้ ตำแหน่งทิศทางการติดตั้งกันสาดมีความจำเป็นมาก คือ ด้านที่มีอิทธิพลจากแสงแดดที่รุนแรง ได้แก่ ทิศใต้และทิศตะวันตกและข้อดีอีกประการหนึ่งคือ กันสาดหรือชายคายังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันฝนอีกด้วย
วิธีที่สิบสาม ห้องไหนๆติดเครื่องปรับอากาศ อย่างลืมติดฉนวน... การลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่สำคัญ คือ การลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านและพื้นที่ใช้งานใดๆ ดังนั้น การติดตั้งฉนวนกันความร้อนในพื้นที่บ้านที่มีเครื่องปรับอากาศเพื่อลดความร้อน นอกจากจะทำให้ห้องเย็นสบาย ป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านและสามารถปรับอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่ายลดค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศได้
วิธีที่สิบสี่ บานเกล็ด บานเปิด บานเลื่อน ต้องใช้ให้เหมาะสม หน้าต่างแต่ละชนิดที่มีคุณสมบัติในการใช้สอยที่แตกต่างกันตามความต้องการ ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ภายในห้อง หน้าต่างบานเปิดมีประสิทธิภาพในการรับกระแสลมสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจัดวางให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกระแสลมด้วย
วิธีที่สิบห้า ทาสีผนังให้ใช้สีอ่อน ไม่ร้อนดี แต่ถ้าเปลี่ยนสี(เข้ม)ต้องมีฉนวน สีผนังมีผลต่อการสะท้อนของแสงแดดและความร้อนเข้าสู่ตัวอาคารมากน้อยต่างกัน สีอ่อนจะมีคุณสมบัติสะท้อนแสงแดดและถ่ายเทความร้อนเข้าภายในบ้านได้ดีกว่าสีเข้มตามลำดับความเข้มของสีผนังภายนอกที่สัมผัสแสงแดดจึงควรเลือกใช้สีโทนอ่อน เช่น ขาว ครีม เป็นต้น ในทางกลับกัน หากต้องการทาสีผนังภายนอกบ้านเป็นสีเข้ม ต้องมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนในบริเวณนั้นเพื่อเป็นการชดเชย นอกจากสีภายนอกอาคารแล้ว การทาสีภายในอาคารด้วยสีอ่อนจะช่วยสะท้อนแสงสว่างภายในห้อง เพิ่มความสว่างภายในบ้านทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟจำนวนมากเกินไป
วิธีที่สิบหก ห้องติดเครื่องปรับอากาศต้องไม่ไร้บังใบประตูหน้าต่าง ความชื้นในอากาศที่รั่วซึมเข้าภายในอาคารบ้านเรือน เป็นสาเหตุของภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการป้องกันปัญหาด้วยการออกแบบที่กระทำได้ไม่ลำบาก คือ การเลือกใช้ประตู และหน้าต่างของห้องภายในบ้านที่มีการบังใบวงกบ เพื่อลดการรั่วซึมของอากาศจากภายนอกสู่พื้นที่ภายใน กรณีบานหน้าต่างสามารถซื้อแผ่นพลาสติกปิดช่องอากาศรั่วมาติดเพิ่มเติมได้ในภายหลัง โดยควรเลือกชนิดพลาสติกจะทำความสะอาดและกันลมรั่วได้ดีกว่าแบบฝ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น